คมนาคมคลอดคู่มือมาตรฐาน สร้างทางจักรยานของประเทศไทย

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

updated: 19 ม.ค. 2559 เวลา 17:56:00 น.
 

         นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 19 ม.ค. 2559 เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และเป็นนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การก่อสร้างเป็นมาตรฐาน

         ในปัจจุบันนอกจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมที่สร้างทางจักรยานแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร(กทม.) และเทศบาลที่ดำเนินการ คิดเป็นระยะทางรวม 2,352 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จ 566 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 715 กม.และอยู่ในแผนงานอนาคต 1,071 กม. ซึ่งงบประมาณที่จะก่อสร้างให้ทำการตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

สำหรับสาระของคู่มือมาตรฐาน รายละเอียดประกอบด้วย 1.ประเภทของทางจักรยาน จะยึดเรื่องของความปลอดภัยเป็นเป้าหมายสูงสุด เช่น ความเร็วต่ำกว่า 30 กม./ชม. ปริมาณการจราจรน้อยกว่า 3,000 คัน/วัน/ปี จะใช้ช่องทางร่วมกับรถยนต์, ความเร็ว 50 กม./ชม. ปริมาณการจราจรมากกว่า 3,000 -5,000คัน/วัน/ปี จะจัดเป็นช่องทางเฉพาะ, ความเร็วระหว่าง 50-70 กม./ชม.ให้จัดช่องทางจักรยานโดยเฉพาะ, ความเร็วสูวกว่า 70 กม./ชม. จัดช่องทางเฉพาะ, กรณีมีปริมาณการจราจรมากกว่า 10,000 คัน/วัน/ปี และมีความเร็วเฉลี่ย 80 กม./ชม.จะจัดช่องทาเฉพาะพร้อมไหล่ทาง และความเร็ว 80 กม./ชม. เป็นต้น

2.ด้านกายภาพช่องทางจราจร เช่น ทางโค้ง ทางแยก การออกแบบผิวจะใช้มาตรฐานของแอสโตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางจักรยานจะใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างด้วย 3.การออกแบบสัญลักษณ์บนแผ่นป้ายจราจรและการติดตั้งป้าย การออกแบบ สัญลักษณ์บนผิวจราจร ให้มีการทำป้ายเป็นภาษาอังกฤษด้วยเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจ(เออีซี)

4.การติดตั้งป้ายระบบไฟฟ้ากระพริบเตือนบนป้ายทางจักรยานและระบบไฟฟ้าแสงสว่างให้ชัดเจน 5.กำหนดที่จอดรถจักรยาน แยกเป็น 1.อาคารที่พักอาศัย มีที่จอดรถจักรยาน 1 คัน ต่อ 3 ห้องที่พัก 2.อาคารสโมสรหรือคลักเฮ้าส์ที่ใช้ทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา มีที่จอดรถสำหรับจักรยาน 1 คันต่อห้องกิจกรรมบวก 3% 3.อาคารสโมสร หรือสถานที่ที่ใช้ในการพบปะสังสรรค์ของคณะต่างๆ ต้องมีที่จอดรถสำหรับจักรยาน 1 คัน ต่อห้องสังสรรค์ 4.โรงแรมหรืออพาร์ทเม้นท์ มีที่จอดรถจักรยาน 1 คัน ต่อพนักงาน 20 คน

5.ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงานแกลลอรี่ มีที่จอดรถสำหรับจักรยาน 1 คัน ต่อที่จอดรถยนต์ 10 คัน 6.โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย มีที่จอดรถจักรยาน 1 คันต่อพนักงาน 4 คน และที่จอดรถจักรยาน 1 คันต่อนักศึกษา 4 คน และ 7 โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนชั้นประถม มีที่จอดรถจักรยาน 1 คันต่อพนักงาน 10 คน

8.สถานที่พักฟื้น คลินิกและสถาบัน มีที่จอดรถจักรยาน 1 คันต่อพนักงาน 20 คน 9.โรงพยาบาล มีที่จอรถจักรยาน1 คันต่อพนักงาน 20 คน 10.ช้อปปิ้งมอลล์ โรงภาพยนตร์ คอมเพล็กซ์และอเวนิว มีที่จอดรถจักรยาน 1 คันต่อที่จอรถยนต์ 10 คัน 11.ย่านธุรกิจและย่านนิคมอุตสาหกรรม มีที่จอดรถจักรยาน 1 คัน ต่อที่จอดรถยนต์ 10 คัน และ 12.พื้นที่อื่นๆ จะต้องอยู่ในดุลพินิจของผุ้ออกแบบและผู้ใช้ว่าพื้นที่ที่ใช้จะเข้าเกณฑ์ต่างในข้อใด